บทวิเคราะห์ Forex และ Bitcoin ประจำสัปดาห์

บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 11 – 15  มีนาคม 2024

EUR/USD: สัปดาห์ที่เลวร้ายสำหรับดอลลาร์

1709981453 eurusd 11 03 2024

● สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีอีเวนต์หลักคือการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม ซึ่งเป็นไปตามที่คาดไว้ ธนาคารกลางยุโรปได้ตัดสินใจคงนโยบายการเงินปัจจุบัน รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.50% เหมือนเดิม ท่าทีนี้ยิ่งยืนยันความมุ่งมั่นในการจัดการกับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย ECB ต้องการให้แน่ใจอย่างชัดเจนว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังไปสู่เป้าหมายที่ 2.0% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.6%

นักวิเคราะห์จาก ANZ Bank ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยยูโรคาดว่าจะถูกปรับลดลงในไตรมาสที่ 2 “การตีความแนวทางอย่างเป็นทางการของ ECB ในเวลานี้ก็คือ แนวทางสายเหยี่ยวเริ่มเพิ่มขึ้นและหลายคนอยากรอดูสถิติการเติบโตของระดับค่าจ้างโดยละเอียดก่อนที่จะเริ่มการลดอัตราดอกเบี้ย เราเชื่อว่าในเดือนมิถุนายนนี้จะได้ข้อสรุป” นักเศรษฐศาสตร์จาก ANZ กล่าว

ความคาดหวังนี้ยังมาจาก Gediminas Šimkus สมาชิกในคณะกรรมการบริหาร ECB และประธานธนาคารกลางลิธัวเนียเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เขากล่าวว่า “เงื่อนไขทั้งหมดกำหนดไว้แล้วเพื่อการเปลี่ยนไปใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดน้อยลง โดยมีแนวโน้มสูงที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน แต่การลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนเมษายนก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ แต่ในระดับต่ำ” เขากล่าวเสริมว่า ไม่มีเหตุผลที่จะลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 25 จุดพื้นฐานในคราวเดียว

● สิ่งสำคัญที่ต้องตั้งข้อสังเกตก็คือ ธนาคารเฟดมักจะมีท่าทีที่แข็งขันมากกว่าเมื่อเทียบกับ ECB โดยมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยบ่อยครั้งกว่า และปรับดอกเบี้ยอย่างผันผวนมากกว่า โดยเราสามารถเห็นได้จากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ระบุว่า นี่หมายความว่าในกรณีที่ธนาคารกลางทั้งสองแห่งเริ่มวัฎจักรผ่อนคลายนโยบายพร้อมกัน อัตราดอกเบี้ยอาจลดลงอย่างรวดเร็วจนต่ำกว่าดอกเบี้ยของฝั่งยูโร ซึ่งจะสนับสนุนให้อัตราแลกเปลี่ยนของ EUR/USD เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม วัฎจักรจะมีลักษณะเป็นอย่างไรยังคงไม่มีความชัดเจน CME FedWatch Tool ประเมินความเป็นไปได้ 56% ที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดในเดือนมิถุนายน แต่ในคำแถลงต่อสภาคองเกรสเมื่อช่วงวันที่ 6-7 มีนาคมที่ผ่านมา นาย Jerome Powell ประธานเฟดกล่าวอย่างคลุมเครือเท่านั้นว่า ธนาคารเฟดอาจผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน “ในจุด ๆ หนึ่งในปีนี้”

คำกล่าวของ Loretta Mester ประธานธนาคารเฟดสาขาคลีฟแลนด์ปรากฏว่าน่าสนใจมากกว่า เธอได้กล่าวต่อศูนย์ยุโรปด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยแสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดปี ดังนั้นในมุมมองของเธอ ท่าทีที่เหมาะสมคือการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันที่ 5.50% ประธานธนาคารเฟดสาขาคลีฟแลนด์ท่านนี้ยังแนะนำด้วยว่า หากสภาวะเศรษฐกิจเป็นไปตามการคาดการณ์ โอกาสที่จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้น

● ในส่วนสถิติเศรษฐกิจมหภาคที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การประเมินสุดท้ายของ Eurostat ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโต 0% ในรายไตรมาสในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2023 GDP ปีต่อปีเพิ่มขึ้น 0.1% ทั้งสองตัวเลขนี้ตรงกับการคาดการณ์เบื้องต้นและความคาดหวังของตลาด จึงไม่มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ดอลลาร์อยู่ภายใต้แรงกดดัน และไม่ใช่แค่เพราะคำกล่าวที่ “น่าเบื่อ” ของนาย Jerome Powell ต่อสภาคองเกรสเท่านั้น รายงานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังออกมาค่อนข้างอ่อนแอด้วย เช่น ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจภาคบริการ ISM ของเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 53.4 จุดเหลือ 52.6 จุด คำสั่งซื้อสินค้าในเดือนมกราคมลดลงเหลือ 3.6% เช่นกัน ซึ่งแย่กว่าการคาดการณ์ 2.9% จำนวนตำแหน่งงาน (JOLTS) ในเดือนสุดท้ายของสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.863 ล้านตำแหน่ง ลดลงจาก 8.889 ล้านเมื่อเดือนก่อนหน้า และยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นของสัปดาห์ถึงวันที่ 2 มีนาคม เพิ่มขึ้นเป็น 217K สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 215K ปัจจัยทั้งสามข้อนี้รวมกันส่งผลให้ EUR/USD เคลื่อนที่ออกจากกรอบแคบ ๆ ที่ 1.0800-1.0865 ซึ่งราคาเทรดอยู่ในกรอบนี้มาตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ และขยับขึ้นมาที่ระดับ 1.0900

● สถิติตลาดแรงงานที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ควรจะช่วยสนับสนุนดอลลาร์ แต่มันกลับไม่เกิดขึ้น แม้ว่าการตอบสนองของตลาดจะค่อนข้างน่างงก็ตาม อีกด้านหนึ่งนั้น จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP) อยู่ที่ 275K ซึ่งสูงกว่าทั้งตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 229K และการคาดการณ์ที่ 198K โดยทั่วไป ดัชนีดังกล่าวควรจะกดให้ราคา EUR/USD ลดลง แต่ในครั้งนี้ ราคากลับขึ้นอย่างรวดเร็วแทน โดยน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 3.7% เป็น 3.9% (จากการคาดการณ์ที่ 3.7%) และรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงแสดงอัตราที่ลดลงอย่างมากจาก 0.5% (เดือนต่อเดือน) ลงมาที่ 0.1% (จากการคาดการณ์ที่ 0.2%) ดูเหมือนว่าดัชนีทั้งสองตัวนั้นมีน้ำหนักมากกว่าผลในทางบวกจากดัชนี NFP ผู้เล่นในตลาดจึงตัดสินใจให้มันเป็นข้อสนับสนุนเพิ่มเติมที่เอื้อต่อการลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น ส่งผลให้คู่ EUR/USD ขยับขึ้นไปที่ 1.0980

● ผลที่ตามมาก็คือ กระแสความตื่นเต้นเริ่มผ่อนลงและ EUR/USD ปิดที่ 1.0937 ในส่วนภาพรวมในระยะสั้น ณ วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม มีผู้เชี่ยวชาญ 35% ที่เห็นด้วยว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นและให้ราคาคู่นี้ขยับลง ในขณะที่ 65% เห็นด้วยกับฝั่งยูโร อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกราฟ D1 ให้สัญญาณสีเขียว 100% โดยมีหนึ่งในสี่ของกลุ่มหลังที่ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.0845-1.0865 ตามมาด้วย 1.0800 จากนั้นคือ 1.0725, 1.0680-1.0695, 1.0620, 1.0495-1.0515 และ 1.0450 ด้านโซนแนวต้านตั้งอยู่ที่บริเวณ 1.0970-1.1015, 1.1050 และ 1.1100-1.1140 และสูงสุดคือ 1.1230-1.1275

● สัปดาห์ที่จะถึงนี้คาดว่าจะค่อนข้างจะมีความอลหม่าน ความผันผวนหลักคาดว่าจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 12 มีนาคม ซึ่งจะมีการประกาศสถิติเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ในเยอรมนีและสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม จะมีการประกาศสถิติและดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในสหรัฐฯ สัปดาห์นี้จะปิดท้ายด้วยการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ University of Michigan ในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมนี้

 

GBP/USD: สัปดาห์ที่ดีสำหรับเงินปอนด์

● GBP/USD เริ่มต้นสัปดาห์ที่ 1.2652 และทำระดับสูงสุดในพื้นที่ที่ 1.2893 เมื่อวันศุกร์ โดยขึ้นมา 241 จุดและทะลุออกกรอบด้านข้างระยะกลางที่ 1.2600-1.2800 สาเหตุหลักนั้นเป็นเพราะความอ่อนแอของดอลลาร์ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สาเหตุประการที่สองคือ สถิติเศรษฐกิจในทางบวกของสหราชอาณาจักร ดัชนี PMI ภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจาก 48.8 เป็น 49.7 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังจะเอาชนะภาวะชะงักงันได้สำเร็จ และในที่สุดก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างมาก

● มีสาเหตุข้อที่สามด้วยเช่นกัน ในบทรีวิวครั้งที่แล้ว เราได้เตือนเหตุการณ์สำคัญสำหรับค่าเงินปอนด์ ซึ่งก็คือการประกาศงบประมาณของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในวันที่ 6 มีนาคม งบก่อนการเลือกตั้งนี้จะส่งผลต่อค่าเงินปอนด์เป็นอย่างมากได้ ซึ่งในปี 2024 เงินปอนด์เป็นค่าเงินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศ G10 รองจากดอลลาร์สหรัฐฯ

นาย Jeremy Hunt รัฐมนตรีการคลังได้นำเสนองบประมาณรอบฤดูใบไม้ผลิต เขาเรียกแผนนี้ว่าเป็นการเติบโตระยะยาว นาย Hunt ได้ประกาศสวัสดิการและโครงการสนับสนุนมากมายรวมเป็นงบกว่า £1.8 พันล้านปอนด์ รวมถึงการจัดสรรงบ £360 ล้านปอนด์เพื่อสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาภาคชีวการแพทย์ การผลิตรถยนต์ และการผลิตเครื่องบิน รัฐบาลยังช่วยเหลือครัวเรือนของอังกฤษโดยการลดภาษีให้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ รัฐบาลจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งให้กับประชาชนชาวสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะการลดภาษีเชื้อเพลิงและแอลกอฮอล์ชั่วคราวที่จะดำเนินการต่อไป

Hunt ยังกล่าวด้วยว่า อัตราเงินเฟ้ออาจลดลงมาที่ 2.0% ภายในสิ้นปีนี้ และ GDP ของสหราชอาณาจักรในปีนี้อาจเติบโต 0.8% โดยรวมแล้ว ตัวเลขและคำสัญญาของรัฐมนตรีการคลังนั้นเป็นไปตามธรรมเนียมก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งออกมาค่อนข้างน่าประทับใจ จึงช่วยให้เงินปอนด์ท้าทายดอลลาร์ได้อย่างแข็งแกร่ง

● แต่ปัจจัยกระตุ้นความแข็งแกร่งของค่าเงินปอนด์นี้จะคงอยู่ต่อไปหรือไม่? นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC ตั้งข้อสังเกตว่า สหราชอาณาจักรยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อและการเติบโตที่ท้าทาย ข้อจำกัดของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) คือการคงนโยบายสายเหยี่ยวไว้ให้มากที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารกลางแห่งอื่น เมื่อนโยบายมีความเป็นสายพิราบมากขึ้น เงินปอนด์อาจเผชิญกับแรงกดดันขาลงครั้งใหญ่ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่จะมาถึงนี้

● GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่แล้วที่ 1.2858 ความเห็นของนักวิเคราะห์ต่อพฤติกรรมในระยะใกล้นี้แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (60%) ทำนายแนวโน้มขาลง 20% ทำนายขาขึ้น และ 20% มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 สถานการณ์สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งหมดนั้นชี้ไปทางทิศเหนือ แต่มี 25% ของออสซิลเลเตอร์ที่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought ในกรณีที่ราคาขยับลงทิศใต้ จะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2800-1.2815, 1.2750, 1.2695-1.2710, 1.2575-1.2610, 1.2500-1.2535, 1.2450, 1.2375 และ 1.2330 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นด้านบน แนวต้านจะอยู่ที่ระดับ 1.2880-1.2900, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140

● ในวันพุธที่ 13 มีนาคม จะมีการประกาศ GDP ของสหราชอาณาจักรในเดือนมกราคม 2024 เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรคาดว่าจะมีการเติบโตที่ 0.2% โดยกลับตัวจากแนวโน้มขาลงที่ -0.1% ในเดือนธันวาคม ซึ่งจะเป็นการยืนยันทัศนคติที่ดีของนาย Jeremy Hunt และในสัปดาห์หน้านี้ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร

 

USD/JPY: สัปดาห์ที่ดีเยี่ยมสำหรับเงินเยน

● หากในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นสัปดาห์ที่ดีมากสำหรับเงินปอนด์ ก็นับว่าเป็นสัปดาห์ที่ดีเยี่ยมสำหรับเงินเยนญี่ปุ่นเช่นกัน USD/JPY ขยับถึงระดับต่ำสุดที่ 146.47 เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม แปลว่าเงินเยนฟื้นขึ้นมาถึง 360 จุดเทียบกับดอลลาร์

นอกจากดอลลาร์จะอ่อนค่าลงแล้ว เงินเยนยังได้รับแรงหนุนจากข่าวลือว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) อาจตัดสินใจปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในเร็ว ๆ นี้ Reuters อ้างอิงแหล่งข่าวหนึ่งว่า “หากผลลัพธ์การเจรจาค่าจ้างในช่วงฤดูใบไม้ผลิ [วันที่ 13 มีนาคม] ออกมาแข็งแกร่ง ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะไม่รอจนกว่าจะถึงเดือนเมษายน” เพื่อออกจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และ BoJ “มีแนวโน้มที่จะยุติอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้”

รายงานอีกฉบับจาก Jiji News ระบุว่า “ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังพิจารณากรอบการทำงานเชิงปริมาณใหม่สำหรับนโยบายทางการเงิน ซึ่งจะให้เค้าโครงแนวโน้มการซื้อพันธบัตรของรัฐบาลในอนาคต” “ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะทบทวนมาตรการควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทน (YCC) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณานโยบายเชิงปริมาณชุดใหม่”

● ดังนั้น วันพุธที่ 13 มีนาคม อาจเป็นวันสำคัญสำหรับเงินเยนญี่ปุ่นได้ เช่นเดียวกันกับวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่มีกำหนดการประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางญี่ปุ่น จึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารฯ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก Natixis Bank ของฝรั่งเศสเชื่อว่า หากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น “ในความเป็นจริง เงินเยนที่อ่อนค่านั้นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น” นักวิเคราะห์ธนาคารเขียนระบุ “มันช่วยพาระดับเงินเฟ้อกลับมายังเป้าหมายที่ 2% และกระตุ้นการส่งออก เนื่องจากญี่ปุ่นมีสินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิจำนวนมาก โดยเฉพาะดอลลาร์และยูโร เงินเยนที่อ่อนค่าลงทำให้มูลค่าเยนของสินทรัพย์ส่งออกเหล่านี้เพิ่มขึ้น” นักวิเคราะห์กล่าวสรุปด้วยว่า “ดังนั้น เราไม่ควรคาดหวังให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนไปใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น สิ่งที่คาดหวังได้มากที่สุดก็คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงสัญลักษณ์”

Commerzbank มีมุมองที่คล้ายกัน โดยเชื่อว่าศักยภาพของเงินเยนนั้นจำกัด และมีการแข็งค่าสูงและไม่คาดว่าจะมีการแข็งค่าขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในระยะกลางและระยะยาว นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank ชี้ว่า นี่เป็นเพราะการขาดความสามารถของการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นปกติของธนาคารกลางญี่ปุ่น

● USD/JPY ได้ปิดท้ายสัปดาห์ที่แล้วที่ 147.06 ในส่วนอนาคตอันใกล้ ไม่สามารถให้ข้อสรุปที่พ้องกันได้ โดยมี 20% เห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี 20% ฝั่งกระทิง และ 60% ยังคงไม่ตัดสินใจ ในบรรดาออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 15% เท่านั้นที่ให้สัญญาณสีเขียว ในขณะที่ 85% ที่เหลือให้สัญญาณสีแดง โดย 40% บ่งชี้ว่าราคาอยู่ในสภาวะ oversold ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ก็เช่นเดียวกันอยู่ที่ 85% ต่อ 15% โดยสีแดงเป็นฝ่ายมากกว่า ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 146.50, 145.90, 144.90-145.30, 143.40-143.75, 142.20 และ 140.25-140.60 ด้านระดับและโซนแนวต้านอยู่ที่ 147.65, 148.25-148.40, 149.20, 150.00, 150.85, 151.55-152.00 และ 153.15

● ในปฏิทินสัปดาห์ที่จะถึงนี้ กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การประกาศปริมาณ GDP ไตรมาส 4 ของญี่ปุ่นในวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม นอกจากนี้อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว การเจรจาเรื่องค่าจ้างในวันที่ 13 มีนาคม จะเป็นที่น่าสนใจ โดยไม่มีกิจกรรมสำคัญอื่นใดเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้

 

สกุลเงินคริปโต: ทำลายสถิติสองครั้งในหนึ่งสัปดาห์

● ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 4 มีนาคม บิทคอยน์แข็งค่าขึ้นประมาณ 10% และทำระดับที่ $69,016 นี่คือสถิติใหม่ (แต่ไม่ใช่สถิติสุด้ทาย) ซึ่งทำลายสถิติครั้งก่อนหน้าที่ $68,917 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 สินทรัพย์คริปโต 10 อันดับแรกส่วนใหญ่ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10-30% ในรอบสัปดาห์เช่นกัน

บิทคอยน์ที่พุ่งขึ้นในครั้งนี้มีรายงานว่าเป็นผลมาจากการกวาดซื้อเหรียญโดยเศรษฐีพันล้านจากกาตาร์ ผู้บินมายังเมืองมาเดราด้วยเครื่องบินส่วนตัวของเขาเพื่อเข้าร่วมงานประชุม Bitcoin Atlantis ที่จัดขึ้นเป็นเวลาสามวัน นาย Robert Rodin ซีอีโอของ Keychainx ได้บอกว่าเขาได้เห็นอะไรบางอย่างที่สนามบินเมืองมาเดราที่ “อาจเปลี่ยนบิทคอยน์ไปตลอดกาล” ในระหว่างนี้ Max Keiser ผู้สนับสนุนบิทคอยน์สุดโต่งนั้นได้แชร์วิดีโอที่ประธานาธิบดี Nayik Bukele ของเอลซัลวาดอร์ได้ทักทายประมุขสูงสุดของประเทศกาตาร์ด้วยคำว่า “มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว!”

Rodin และ Bukele หมายความว่าอะไรนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มันก็เพียงพอที่จะเปิดประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับการที่กาตาร์ตุนเหรียญบิทคอยน์เพิ่ม ความถูกต้องของข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนั้นยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ข่าวสารตามโซเชียลต่างเต็มไปด้วยการคาดการณ์ในเรื่องนี้ อีกทั้งยังมีข่าวลือมาแล้วหลายเดือนด้วยว่ามีกองทุนแห่งชาติบางประเทศหรือบริษัทเพื่อการลงทุนจากตะวันออกกลางที่กำลังแอบสะสมบิทคอยน์อย่างเงียบ ๆ

หลังจากราคาทำสถิติใหม่ บิทคอยน์ก็ร่วงลงมาที่ $59,107 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม โดยมีคำสั่งที่ถูกบังคับปิดในตลาดฟิวเจอร์สคิดเป็นมูลค่ากว่า $1 พันล้านเหรียญฯ อย่างไรก็ตาม ราคาที่ร่วงลงดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่เท่านั้น เพราะเหล่าวาฬซื้อเหรียญปริมาณมาก จึงดันราคากลับมายังที่เดิม และยังขึ้นไปทำลายสถิติใหม่ด้วย ในวันที่ 8 มีนาคม บิทคอยน์แตะระดับ $69,972 ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นเพราะว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คาดหวังว่าราคาจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขึ้นไปยังระดับที่อย่างน้อย $100,000

●นักเทรดชื่อ Gareth Soloway ได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยสำคัญที่อาจดันราคาบิทคอยน์ให้ขึ้นไปทำระดับสูงสุดใหม่ที่ $100,000 ผู้เชี่ยวชาญรายนี้พูดถึงสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในนการจัดการนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในสถานการณ์เงินเฟ้อที่ประมาณ 3% เขาเน้นย้ำว่า ทางการมีความลังเลที่จะเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยจึงอาจพยุงภาวะเงินเฟ้อให้สูงต่อไป และมีส่วนช่วยคงเทรนด์ขาขึ้นให้กับบิทคอยน์ “หากเราเห็นสภาพคล่องเพิ่มขึ้น (ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้น) บิทคอยน์ก็จะขึ้นไปที่ $100,000 ในปี 2024” เขียนโดย Soloway อย่างไรก็ตาม ในระหว่างทางนี้ นักเทรดยังไม่ตัดโอกาสที่ราคาอาจมีการปรับฐานลงมาในระยะสั้นได้

● ผู้เชี่ยวชาญจาก JPMorgan ก็พูดถึงโอกาสที่ Halving จะกระตุ้นให้ราคาปรับฐานลงมาอย่างรุนแรง การลดผลตอบแทนตามอัลกอริทึมจาก 6.25 BTC เหลือ 3.125 BTC จะลดความสามารถในการทำกำไรในการขุดเหรียญ นักเศรษฐศาสตร์จาก JPMorgan ซึ่งนำโดยนักวิเคราะห์อาวุโสที่ชื่อว่า Nikolaos Panigirtzoglou จึงทำนายว่า ราคาบิทคอยน์จะตกลงมายัง $42,000 หลังจาก Halving “ต้นทุนการขุดบิทคอยน์โดยหลักแล้วทำหน้าที่เป็น “พื้นราคา” ระบุในรายงาน “ปัจจุบัน ต้นทุนในการขุดเหรียญคือ $26,500 หลังจาก Halving ตัวเลขดังกล่าวจะกลายเป็น $42,000” “นี่ยังเป็นระดับที่เราเชื่อว่า ราคาจะตกลงหลังจากที่ช่วงกระแสตื่นตัวจากช่วงหลัง Halving สงบลงในเดือนเมษายน” ระบุโดย JPMorgan.

● อ้างอิงจากโมเดล Stock-to-Flow (S2F) ชื่อดังชี้ว่า บิทคอยน์ได้แปรผันจากระยะสะสมกำลังเป็นระยะการเติบโต ระยะสะสมกำลังนั้นมีลักษณะที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างค่อนข้างราบรื่น มีความผันผวนน้อย และมีการปรับฐานปานกลาง โดยมีการขาดทุนสะสมสูงสุดในวัฎจักรนั้นไม่เกิน 22% ระยะการเติบโตนั้นจะให้ภาพที่แตกต่างออกไป สถิติในอดีตชี้ว่า ในช่วงการไปถึงราคาสูงสุดใหม่นั้น จะเกิดการติดลบลงมาที่ระหว่าง 36% ถึง 71% JPMorgan ได้คาดการณ์ว่าบิทคอยน์จะร่วงลงมาที่ $42,000 ซึ่งที่ราคาปัจจุบันนั้น การปรับฐานดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 36-40% ตรงกับกรอบด้านล่างของช่องราคา แต่การปรับฐานที่ 70% จะทำให้ราคาติดลบลงลึกยิ่งกว่านั้น

มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในช่วงแรกนั้น นักขุดเหรียญที่รายได้ถูกลดลงครึ่งหนึ่ง จะเอาตัวรอดได้โดยการเริ่มขายเหรียญของตนเองออกมา หลังจากนั้นนักเก็งกำไรรายสถาบันและนักเก็งกำไรระยะสั้นจะเริ่มเข้าร่วมเพื่อเก็บกำไร ดังนั้น คำสั่ง stop จะเริ่มมีผล จนทำให้เกิดราคาถล่มลงมาครั้งใหญ่ และหากนักลงทุนที่ลงเงินไปในกองทุน BTC-ETFs ก็เข้าร่วม “ช่วงขาลงของคริปโต” นี้ ความลึกของขาลงนี้จะยากที่จะจินตนาการถึง สิ่งที่น่าสนใจก็คือในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ กองทุน BTC-ETFs ดึงดูดเงินลงทุนได้ 75% ของเงินลงทุนทั้งหมดมายังบิทคอยน์ และไม่มีการการันตีว่าภาวะหวาดวิตกจะไม่ส่งผลต่อผู้ฝากเงินลงทุนเหล่านี้

● อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมีความเห็นว่า ไม่ว่าบิทคอยน์จะปรับฐานลงลึกขนาดไหน ราคายังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นในระยะยาว “เราได้เข้าสู่ยุคตื่นบิทคอยน์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2024 และจะกินเวลาไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2034” ประกาศโดยนาย Michael Saylor ผู้ก่อตั้งบริษัท MicroStrategy ผู้กล่าวในงานประชุม Bitcoin Atlantis การคำนวณของเขาชี้ว่า พอถึงเวลานั้น นักขุดเหรียญจะสกัดเหรียญออกมาได้ 99% ของเหรียญทั้งหมด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “ระยะเติบโต” (ปัจจุบันมีการขุดเหรียญไปแล้ว 93.5% ตามสถิติของ BitcoinTreasuries)

นาย Saylor เชื่อว่า ในเวลานี้มีผู้จัดการสินทรัพย์เพียง 10-20% เท่านั้นที่สนใจในกองทุน BTC-ETFs ในอนาคต อุปสรรคที่ปรากฏอยู่อาจถูกขจัดไป และตัวเลขนี้น่าจะไปถึง 100% “เมื่อพวกเขา (ผู้จัดการเหล่านั้น) สามารถซื้อ BTC ผ่านธนาคาร แพลตฟอร์ม หรือโบรกเกอร์ชั้นนำได้ พวกเขาจะจ่ายเงิน $50 ล้านเหรียญฯ ในหนึ่งชั่วโมง” เขากล่าว โดยผู้ก่อตั้ง MicroStrategy ยังมั่นใจด้วยว่า “วันนั้นจะมาถึง วันที่บิทคอยน์แซงหน้าทองคำ และจะมีราคาซื้อขายมากกว่ากองทุน S&P 500 ETFs”

● ในอีก 15 ปีข้างหน้า บิทคอยน์อาจแข็งค่าขึ้น 64 เท่า นี่คือการคาดการณ์ของ Giovanni Santostasi ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ ซึ่งอ้างอิงจากโมเดลกฎของกำลัง (power-law) นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้ชี้ว่า โมเดลนี้ให้สถานการณ์ที่ชัดเจนและคาดการณ์ได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในราคาบิทคอยน์ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่สั้นกว่า ซึ่งเป็นเวลาที่สื่อให้ความสำคัญนั้น ราคาเหรียญจะมีพฤติกรรมที่ผันผวนและโกลาหล

โมเดลกฎกำลังต่างไปจากโมเดล S2F (Stock-to-Flow) ของนักวิเคราะห์ที่ชื่อว่า PlanB ตรงที่กฎของกำลังนั้นเป็นลอการิทึม (logarithm) ไม่ใช่แบบเลขชี้กำลัง (exponential) หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ราคาบิทคอยน์ไม่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต การคำนวณของเขาชี้ว่า ราคาบิทคอยน์จะทำระดับสูงสุดที่ $210,000 ในเดือนมกราคม 2026 จากนั้นจะตกลงมายัง $60,000 และหลังจากนั้นราคาจะเติบโตเป็นคลื่นไปจนถึง $10.63 ล้านเหรียญฯ

(ข้อมูลอ้างอิง: ความสัมพันธ์ของกฎของกำลัง คือ ความเกี่ยวข้องกันทางคณิตศาสตร์ระหว่างสองปริมาณที่การเปลี่ยนแปลงเชิงเปรียบเทียบในปริมาณหนึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงเปรียบเทียบตามสัดส่วนในอีกปริมาณหนึ่ง ไม่ว่ามูลค่าเริ่มต้นของปริมาณเหล่านี้จะเท่าใดก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณหนึ่งและอีกปริมาณหนึ่งแสดงถึงฟังก์ชันกำลัง กฎนี้สังเกตเห็นได้ในหลายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความถี่ในการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงในตลาดหุ้น)

● ณ ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $68,100 ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นมาจาก 80 เป็น 81 จุด เข้าสู่โซนความโลภขั้นสุด (Extreme Greed) โดยมูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $2.60 ล้านล้านเหรียยฯ (ขึ้นมาจาก $2.34 ล้านล้านเหรียญในสัปดาห์ที่แล้ว) โดยดัชนีการครองตลาดของบิทคอยน์อยู่ที่เกือบ 52% และมูลค่าในตลาดสูงเกิน $1.35 ล้านล้านเหรียญฯ ซึ่งสูงกว่ามูลค่าของค่าเงินในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก เป็นต้น ไม่กี่วันก่อน BTC แซงหน้ารูเบิลรัสเซียในมูลค่าตามราคาตลาด และขึ้นอันดับที่ 14 ในบรรดาสกุลเงินที่มีมูลค่ามากที่สุดของโลกเทียบเคียงกับฟรังก์สวิส หลังจากมีข่าวปรากฏว่าบิทคอยน์ได้แซงหน้ารูเบิล ในอินเทอร์เน็ตก็มีมุกตลกมากมายที่บอกว่า วลาดิเมียร์ ปูติน จริง ๆ แล้วคือ Satoshi Nakamoto ด้าน Ethereum ติดอันดับที่ 28 โดยทำผลงานได้ดีกว่าเปโซชิลี แต่ไม่ดีเท่าลีราตุรกี

ในการจัดอันดับสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดทั้งหมด ซึ่งนับรวมโลหะมีค่า และบริษัทต่าง ๆ บิทคอยน์จัดอันดับได้อันดับที่ 10 โดยมีมูลค่าสูงกว่า Berkshire Hathaway บริษัทของนาย Warren Buffet แต่ไม่สูงเท่า Meta ซึ่งสามอันดับแรกนั้น ได้แก่ ทองคำ บริษัท Microsoft และบริษัท Apple

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

เครดิต : กลุ่มวิเคราะห์ Forex โบรคเกอร์ NordFX